บริหารองค์กรแนวพุทธให้ตรงกับปัญหาฝ่าวิกฤต

บริหารองค์กรแนวพุทธให้ตรงกับปัญหาฝ่าวิกฤต

"บริหารองค์กรแนวพุทธ เลือกธรรมะให้ตรงกับปัญหาฝ่าวิกฤต"

ท่ามกลางความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า วิธีคิดของผู้นำนั้นมีบทบาทสำคัญต่อความอยู่รอดและความเป็นไปขององค์กรอย่าง มาก โครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯนัดพิเศษ" เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้หยิบหลักการบริหารงานเชิงพุทธ มาย่อยให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ชี้ทางสว่างให้กับนักบริหารองค์กรยุคใหม่อย่างน่าสนใจในหลายประเด็นซึ่งล้วน แต่เป็นเกร็ดสำคัญที่ผู้นำองค์กรสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ทั้งสิ้น พระธรรมโกศาจารย์ เริ่มต้นด้วยการให้นิยามคำว่า "การบริหาร"

"การบริหาร หมายถึงการดำเนินกิจการให้สำเร็จด้วยความร่วมมือกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นกิจการเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ กิจการบ้านเมือง หรือกิจการในครอบครัวก็อยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน ฉะนั้น การบริหารจึงเกี่ยวข้องกับทุกกิจการ"

โดยการดำเนินกิจการร่วมกับผู้อื่นมีองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายใน

องค์ประกอบภายนอกคือ กฎระเบียบ กติกา ของสังคม เรียกรวมๆ ว่า "ระบบ"ซึ่งบางคนมักจะพูดว่าถ้าระบบดี อะไรๆ ก็จะเดินไปด้วยดี คำถามที่ตามมาคือ พุทธศาสนามีระบบไหม ถ้าพูดถึงการพัฒนาชาติให้เริ่มที่ประชาชน พูดถึงการพัฒนาคนให้เริ่มที่ใจ จะพัฒนาอะไรให้เริ่มที่ตัวเองก่อน ซึ่งพอเริ่มที่ตัวเองก็จะมองไม่เห็นคนอื่น ประเด็นจึงอยู่ตรงนี้ พุทธศาสนามีทั้งเรื่องจิตใจ การอยู่ร่วมกับคนอื่น เพียงแต่ว่าคนในสังคมยังหลงไม่รู้ว่าจะใช้หลักการ ตรงไหนในการบริหาร ถ้าเน้นที่ตัวเองอย่างเดียวก็ไม่ไปถึงคนอื่น ถ้าเน้นที่คนอื่นโดยไม่มองตัวเองก็เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าจะโยงหลักขงจื๊อที่ได้วางระบบจริยธรรมของสังคมในเรื่อง หน้าที่ที่ทุกคนควรมีต่อกัน เช่น หน้าที่ของพ่อที่ต้องมีต่อลูก หน้าที่ของลูกที่ต้องมีต่อพ่อ ในพระพุทธศาสนาก็มี เรื่องทิศ 6 คือความสัมพันธ์ในสังคม แต่พอหันไปดูเล่าจื๊อจะเป็นเรื่องของทรรศนะต่อจักรวาล เราอยู่เพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร แล้วเราจะมองคนอื่นอย่างไร ถ้ามองคนอื่นอย่างที่เขาเป็น เราก็ไม่ต้องไปควบคุมอะไร ปล่อยให้กลไกลต่างๆ ดำเนินการไปตามครรลองโดยไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ในขณะที่เต๋า พระพุทธศาสนามองสรรพสิ่ง คือการอาศัยซึ่งกันและกัน คำถามคือ เวลาที่มีปัญหาในการบริหาร จะเอาธรรมะอะไรไปใช้ในการบริหาร คำตอบคือ ในการบริหารแต่ละคนจะมีปัญหาคนละแบบ ฉะนั้นจะต้องถามตัวเองว่าปัญหาเป็นแบบไหน เรื่องอะไร

อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้แยกการบริหารออกเป็น 5 คำ ซึ่งในภาษาฝรั่งเรียกว่า POSDC

1. P คือ Planing การวางแผน

2. O คือ Organizing การจัดองค์กร

3. S คือ Staffing บุคลากร

4. D คือ Directing การสั่งการ อำนวยการ

5. C คือ Controling การควบคุม ติดตาม ประเมิน

วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่ตัว C คือ Controling การควบคุมติดตาม สั่งงานแล้วสั่งเลย เพราะถ้าไปตามเรื่องมากลูกน้องจะบอกว่าจู้จี้ ไม่เชื่อมือหรืออย่างไร บางครั้งขึ้นป้ายเลยว่า ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี แต่ถ้าปล่อยปละละเลยก็จะเหมือนกับโคลงโลกนิติที่จารึกบนหินอ่อนที่วัดโพธิ์ ที่มีต้นเรื่องมาจากสวนสัตว์แห่งหนึ่งในสมัยโบราณ ได้เสือโคร่งตัวใหม่มาหนึ่งตัว ทาง ผู้อำนวยการก็ได้ตั้งงบประมาณเลี้ยง เสือโคร่งตัวนี้เป็นเงินวันละหนึ่งบาท เพื่อซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือโคร่ง ผู้คุมก็เบิกเงินวันละหนึ่งบาทไปซื้อเนื้อมาเลี้ยงเสือ แต่ผู้คุมยักยอกเงินไปหนึ่งสลึง เสือจึงได้กินแค่ 75 สตางค์ เสือก็ไม่อ้วน คนที่ไปชมสวนสัตว์ดูเสือไม่อ้วนก็ฟ้องไปที่ผู้อำนวยการว่าอาหารไม่พอกินหรือเปล่า

ผู้อำนวยการก็ส่งผู้ตรวจการมาตรวจ ต่อมา 3 วันผู้ตรวจก็รู้ความจริงว่าเงินถูกยักยอกไปหนึ่งสลึง ก็ขอค่าปิดปากหนึ่งสลึง เสือได้กิน 50 สตางค์ ต่อมาคนมาชมสวนสัตว์มาฟ้องผู้อำนวยการอีกว่าเสือผอมลง ผู้อำนวยการส่งผู้ตรวจการระดับสูงกว่ามา ปรากฏว่าก็มีพฤติกรรมเช่นเดียวกันเสือก็ผอมลงอีก พอส่งผู้ตรวจการระดับบิ๊กมา 3 วันเสือตาย เพราะไม่เหลือเงินซื้ออาหารให้เสือกิน นั่นหมายความว่าเราไม่ได้มองว่าประเทศไทยมีธรรมะ แต่แก้ปัญหาตัว C โดยการอิมพอร์ตวิธีการควบคุมต่างๆ มาจากต่างประเทศ สมัย ก่อนเรียกว่า QC (quality control) พอใช้ไประยะหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่เข้ากับสังคมไทยก็เปลี่ยนมาเป็น QA(quality assurance) ประกันคุณภาพ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานอีกแค่ไหน และนี่คือปัญหาในการบริหารประเทศไทย มีการนำเข้าระบบต่างๆ จาก ต่างประเทศเยอะแยะไปหมด หากจะถามต่อไปว่า สังคมไทยจะ อยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุข บริษัทเจริญด้วยสมาชิกเจริญด้วย จะใช้ธรรมะข้อไหน?

พระธรรมโกศาจารย์ ไขปริศนาว่าแต่ละ องค์กรมีปัญหาไม่เหมือนกัน การเลือกใช้ธรรมะจึงไม่เหมือนกัน ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า พระพุทธศาสนานั้นครอบจักรวาล เอาอะไรมาใช้ก็ได้ แก้ปัญหาได้หมด ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แต่ละข้อเพื่อแก้ปัญหาคนละอย่าง ไม่ใช่ธรรมะ 84,000 ธรรมขันธ์จะแก้ปัญหาได้หมด ปัญหาของคนไทยวันนี้จึงอยู่ที่ว่าไม่รู้ว่าจะหยิบธรรมะข้อไหนมาใช้แก้ปัญหา ให้เหมาะสมกับองค์กร เพราะฉะนั้นจึงต้องมีคนบอก มีคนแนะว่าจะต้องใช้ธรรมะอะไร นั่นคือกระบวนการสอน การฝึกอบรม เช่น ตอนนี้เงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง ใช้ธรรมะอะไรดี ไปถามเพื่อน เพื่อนบอกว่าอุเบกขา วางเฉยแล้วจะชินไปเอง อุเบกขาเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ได้มีไว้แก้จน เพราะฉะนั้นต้องเลือกใช้ธรรมะให้ถูกฝา ถูกต้อง ภาษาพระเรียกว่า ธรรมานุธรรมะปฏิบัติ คือ ปฏิบัติธรรมน้อยให้คล้อยธรรมใหญ่ เลือกธรรมะย่อยๆ มาปฏิบัติให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการ การเลือกใช้ธรรมะให้ถูกต้องนี่แหละคือการบริหารเชิงพุทธ ก่อนจะสรุปว่าหัวใจของการบริหารเชิงพุทธ คืออะไร พระธรรมโกศาจารย์ ขอให้คนที่อยากเป็นนักบริหารพิจารณาตัวเองก่อนว่ามีแววแค่ไหน มีคุณสมบัติของนักบริหารหรือเปล่า

พระธรรมโกศาจารย์ แบ่งลักษณะพื้นฐานเบื้องต้นของนักบริหารไว้ 3 ประการ คือ

1.มีจักษุมา ซึ่งแปลว่า สายตาที่ยาวไกล หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า วิสัยทัศน์ เล็งการณ์ไกลได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จึงจะสามารถซื้อของในฤดูกาลที่ของถูกแล้วนำไปขายในฤดูกาลที่ของแพงได้

2.วิธุโร มีความเชี่ยวชาญในการบริหาร เช่น พ่อค้าเพชรก็จะต้องดูเพชรออกว่าเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียม

3.นิสสยสัมปันโน แปลว่า มีนิสัยดี คนอยากจะทำงานด้วย นั่นคือ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนักบริหารระดับไหนก็ขาดคุณสมบัติข้อ 3 เรื่องมนุษยสัมพันธ์ไม่ได้เพราะไม่เช่นนั้นจะทำกิจการใดก็ไม่สำเร็จ แต่ถ้าเป็นนักบริหารระดับสูง เรื่องของวิสัยทัศน์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากเป็นผู้บริหารระดับต้น หรือโฟร์แมน คุณสมบัติข้อ 2 และข้อ 3 ในเรื่องความเชี่ยวชาญและมนุษยสัมพันธ์จะสำคัญมาก ฉะนั้นทุกคนต้องถามตัวเองว่ามีคุณสมบัติครบหรือไม่ เพราะภาษิตโบราณว่าไว้ สัญชาติลิงยิ่งปีนสูงขึ้นไปเท่าไหร่ คนก็ยิ่งรู้ว่าเป็นลิงมากขึ้นเท่านั้น หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ตอนที่อยู่ตำแหน่งเล็กๆ ทำงานไม่ได้เรื่องได้ราวมั่วไปเรื่อยๆ หลบๆ ซ่อนๆ ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่พอได้เลื่อนไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น ความไม่ได้เรื่องก็จะปรากฏชัด เปรียบเหมือนกับลิงตอนที่อยู่ใต้ต้นไม้มองไป บางครั้งก็ไม่รู้ว่าเป็นเสือ เป็นแมว หรือหมี แต่พอปีนขึ้นไปบนยอดมะพร้าว จะเห็นชัดว่านั่นคือ ลิงจริงๆ ตรงนี้ขงจื๊อบอกไว้ว่า อย่าห่วงว่าใครจะไม่รู้ว่าท่านเก่งหรือมีความสามารถหรือไม่ ให้ห่วงว่าเมื่อวันหนึ่งโอกาสมาถึง ได้เลื่อนตำแหน่ง ท่านมีความสามารถจริงเก่งจริงหรือเปล่า ดังนั้นตอนที่ยังไม่ได้เป็นผู้บริหารจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ ความสามารถตลอดเวลา เมื่อโอกาสมาถึงจะได้แสดงความรู้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ พระธรรมโกศาจารย์ สรุปตอนท้ายว่า ระบบการบริหารงานที่ดีที่สุด คือ ระบบ ธรรมาธิปไตย เอาธรรมะ ความถูกต้องความดีงาม เอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ถือคติ ถูกต้องไม่จำเป็นต้องถูกใจข้าพเจ้า ถ้าเป็นประธานบริษัท แต่มี ผู้จัดการที่ดีเสนอแนะแนวคิดดีๆ แต่อาจจะไม่ถูกใจ ก็ทำไปเถอะ

คนที่ยึดหลักธรรมาธิปไตยในการบริหารงาน จะเป็นผู้ที่กล้าตัดสินใจ กล้าบุกเบิก กล้าลงทุน กล้าทำในสิ่งที่ทุกคนบอกว่าทำไปทำไม แต่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและส่วนรวม และก่อให้เกิดสิ่งดีๆ กับองค์กรและสังคมโดยรวม

 2086
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์