ในเวลาบ่ายแก่ๆ อย่างเช่นวันนี้ เมื่อเลิกชั้นเรียนแล้ว ผู้เขียนก็จะเดินเล่นอยู่ในเมือง Evanston ซึ่งมีร้านรวงต่างๆ มากมาย และเนื่องด้วยผู้เขียนเป็นนักชิมคนหนึ่งจึงสอดส่ายสายตาสำรวจร้านอาหารที่ อยู่ในเขตเมืองเล็กๆ นี้ ซึ่งก็พบว่าแม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ก็มีคนต่างชาติเข้าไปเปิดร้านอาหารหลายชาติ มีตั้งแต่อาหารฝรั่งอเมริกัน พวกฟาสต์ฟู้ดที่บ้านเรารู้จักดี เช่น Burger King ส่วนภัตตาคารอาหารชั้นสูงก็มีหลายร้าน เป็นอาหารประเภทสเต็ก อาหารสไตล์หลุยเซียนา ที่เรียกว่า อาหารเคเจิน (Cajun) ที่มีพวกข้าวต้มเละๆ กับไก่ หรือไส้กรอกใส่กระเจี๊ยบและเครื่องเทศ (Gumbo) เป็นต้น
มีอาหารฝรั่งเศส อิตาเลียน กรีก เม็กซิกัน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เลบานีส จีน เวียดนาม ไทย โดยเฉพาะอาหารไทยนั้นมีคนไทยไปเปิดกิจการอยู่ในเมืองนี้ถึง 3–4 ร้าน และก็ดำเนินกิจการมานานกว่า 20 ปีแล้ว มีฝรั่งเข้าไปอุดหนุนมากพอสมควร เป็นที่น่าชื่นใจว่าอาหารไทยของเราเป็นที่รู้จักและนิยมของคนที่นี่ โดยเฉพาะฝรั่งจะรู้จักผัดไทย ต้มยำ แกงเขียวหวาน และผัดกะเพราเป็นอย่างดี เพราะเป็นอาหารจานหลักของไทย
เมื่อผู้เขียนได้เข้าไปในตัวเมืองชิคาโก ก็พบว่าอาหารไทยของเราก็เป็นที่รู้จักและนิยมของฝรั่งเช่นกัน เมื่อประมาณกว่า 10 ปีมาแล้วที่ ผู้เขียนได้มาเยือนชิคาโก เวลาเข้าไปในศูนย์อาหารจะพบว่ามีแต่อาหารจีนและญี่ปุ่นขาย แต่ในเวลานี้หลายที่จะมีอาหารไทยเข้าไปแทรก และแม้แต่ร้านที่ขายอาหารจีนเป็นหลัก ก็ยังอุตส่าห์มีเมนูอาหารไทยให้ลูกค้าเลือก ซึ่งโดยมากจะเป็น "Pad Thai" นี่แหละ ดังนั้น ในเวลานี้จึงกล้าพูดได้ค่อนข้างเต็มปากเต็มคำว่า อาหารไทยของเรา "โกอินเตอร์" ได้สมเจตนารมณ์ของรัฐบาลยุคปัจจุบัน
นอกจากอาหารไทยแล้ว เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ต่างๆ ของไทยเราก็เริ่มมีให้เห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้ามากขึ้น อย่างในห้างสรรพสินค้าใน Water Tower ที่อยู่ในย่าน Magnificent Mile (ย่านช็อปปิ้งดังของชิคาโกคล้ายกับย่าน Rodeo Drive ของลอสแองเจลิส) ก็มีร้านเสื้อผ้าราคาค่อนข้างสูง ขายเสื้อที่ติดตราว่าทำจากประเทศไทย และในซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีสบู่สมุนไพรจากประเทศไทยที่บรรจุหีบห่อสวยงามวาง ขายคู่กับสบู่ที่ผลิตจากประเทศอังกฤษ เป็นต้น
ในเมื่ออาหารไทยและสินค้าไทยเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติแล้ว ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า "คนไทย" นี้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติในระดับไหน แน่นอนที่คนเกือบทั่วโลกรู้จักประเทศไทยและคนไทย แต่ในฐานะที่เป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผู้เขียนสงสัยว่าบริษัทชั้นนำของโลก อย่างเช่น Nokia IBM Ritz Carlton ฯลฯ ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก มีผู้บริหารระดับสูงเป็นคนไทยบ้างไหม โดยมากแล้วเราจะเห็นว่าบริษัทพวกนี้มักมี CEO หรือผู้บริหารระดับสูงเป็นชาวต่างชาติ เช่น อเมริกัน ยุโรป หรือถ้าเป็นชาวเอเซีย ก็จะเป็นชาวสิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย เป็นต้น พูดง่ายๆ คือหาคนไทยยากหรือแทบไม่มีเลยว่างั้นเถอะ! หรือว่าแรงงานไทยระดับบริหารนี้ยัง "โกอินเตอร์" ไม่ได้
เพื่อเป็นการพิสูจน์ให้รู้ชัดว่าความสามารถของผู้บริหารชาวไทยนั้นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พอที่เราจะ "เอ็กซ์ปอร์ต" ได้ หรือยัง คุณมลฑนา พรปัญญาเลิศ, Human Resources Director, Aventis Pharma Ltd. และคุณวราพร เรืองพีระกุล, Human Resources & Administration Manager, Thai Laemchabang Terminal Co., Ltd. ซึ่งทั้งสองเป็นนิสิตในหลักสูตรปริญญาโท สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์ของศศินทร์ ก็ได้ทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง "การสำรวจความสามารถในการได้รับการจ้างงานของผู้บริหารชาวไทยจากการมองของ CEO ชาวต่างชาติที่ทำงานกับบริษัทชั้นนำที่ติดอันดับ 500 อันดับของนิตยสาร Fortune ประจำปี 2004 ในประเทศไทย"VS
โดยคุณมลฑนาและคุณวราพรได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลจากผู้บริหาร ชาวต่างชาติที่เป็น CEO หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีบริษัทที่ติดอยู่ใน 500 สุดยอดบริษัทของ Fortune ในประเทศไทยอยู่ 140 บริษัท แต่ก็เป็นอย่างที่เราทราบดีว่า การจะขอข้อมูลจากคนระดับ CEO ในเวลาอันจำกัด (ที่ต้องทำวิจัยให้เสร็จ) นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จึงมีเพียง 32 บริษัทเท่านั้นที่สามารถให้ความร่วมมือให้ข้อมูลได้ โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. สำรวจความคาดหวังที่ผู้บริหารชาวต่างชาติของบริษัทชั้นนำเหล่านั้น มีต่อผู้บริหารชาวไทย ในเรื่องทักษะในการทำงานระดับบริหาร และทัศนคติที่ผู้บริหารชาวไทยพึงมี (หากคิดจะให้ CEO ต่างชาติเหล่านี้จ้างคนไทยไปเป็นผู้บริหารระดับสูง)
2. สำรวจความพึงพอใจที่ผู้บริหารชาวต่างชาติมีต่อผู้บริหารชาวไทย ในเรื่องทักษะและทัศนคติดังได้กล่าวในข้อ (1) ซึ่งผลจากการวิจัยจะบ่งชี้ให้ทราบว่า ผู้บริหารชาวไทยในสายตาของผู้บริหารต่างชาตินั้นมีความพร้อมทางด้านทักษะและ ทัศนคติเพียงใดในปัจจุบัน
ผลจากการวิจัย สามารถสรุปได้ดังตารางข้างล่างนี้คือ
ผลงานวิจัยชิ้นนี้น่าจะบ่งชี้แนวทางในการพัฒนาบุคลากรชาวไทย ได้ในระดับหนึ่ง จะเห็นได้ว่าทักษะและทัศนคติที่สำคัญของบุคลากร ที่จะทำงานบริหารในระดับโลกาภิวัตน์นั้นจะเน้นเรื่องการมีความคิดเชิงรุก การวางแผนกลยุทธ์ การตัดสินใจ และการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์และการใช้ภาษาอังกฤษ จากสายตาของผู้บริหารต่างชาตินั้น คนไทยสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีพอสมควร ทำงานเป็นทีมได้ มีความสำนึกผูกพันกับงานและ มีความกระตือรือร้น อย่างไรก็ตาม หากจะเขยิบฐานะให้สามารถก้าวสู่เวทีบริหารระดับโลกได้ ต้องเร่งปรับปรุงเรื่องแนวคิดทำงานในเชิงรุก พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คิดวางแผนกลยุทธ์ พัฒนาภาวะผู้นำ และพัฒนาการทำงานที่เน้นผลงาน รวมถึงความสามารถด้านภาษาอังกฤษ (ซึ่งเราเสียเปรียบชาวอินเดียและสิงคโปร์ในเรื่องนี้)
เชื่อแน่ว่าในไม่ช้าผู้บริหารชาวไทยน่าจะเป็นที่รู้จักและต้องการของตลาดโลกไม่แพ้ผัดไทยและต้มยำกุ้งแน่ๆ
ที่มา : http://www.jobjob.co.th