"อัจฉริยะ" ปั้นได้

"อัจฉริยะ" ปั้นได้

      
       วนิษา เรซ ถอดรหัสการทำงานของ "สมอง" ตามทฤษฎี
"อัจฉริยภาพหลายประการ" (Multi-intellect Theory) ของ โปรเฟสเซอร์ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ บนแนวคิดว่า อัจฉริยะ"สร้างได้"

      
วนิษา เรซ หรือ "ครูหนูดี" ชื่นชอบเป็นพิเศษกับการเรียนวิชาแปลกๆ ที่คนไทยน้อยคนจะสนใจ เพราะเป็นวิชาที่แทบไม่มีอนาคตต่อ การหาเงิน หรือสร้างอาชีพการงาน

      
ครูหนูดี มีดีกรี เกียรตินิยม ปริญญาตรีด้านครอบครัวศึกษา (Family Studies) จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ และวิชาสุดท้าย ที่เธอเลือกเรียนคือ "ใช้ชีวิตให้มีความสุข"

      
หลังจากนั้นไปต่อปริญญาโทด้านวิทยาการทางสมอง (Neuroscience) ในโปรแกรม Mind, Brain and Education จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอีกเช่นกัน

      
แม้จะเป็นวิชาที่แปลกในสายตาของใครต่อใคร แต่เธอกลับพบว่า ปริญญาทั้งสองใบที่ได้มา "ยิ่งใหญ่" กับงานในฐานะ "ครู" เป็นอย่างยิ่ง

      
ครูหนูดี ตั้งใจว่า ก่อนจะบินกลับไปเก็บตัวในห้องวิจัยเพื่อเรียนต่อปริญญาเอกเธอจะใช้เวลา 2 ปี "ติวเข้ม" ให้คนอีก 4 กลุ่มเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเอง นั่นคือ กลุ่มนักเรียนม.ปลาย ที่กำลังเตรียมตัวเอนทรานซ์อย่างหน้าดำคร่ำเครียด นักศึกษาเรียนหนัก กลุ่มพ่อแม่ฝึกลูกให้เป็นอัจฉริยะ และกลุ่มยังก์โปร หรือคนทำงานรุ่นใหม่

      
ผ่านงานเขียนหนังสือ และการฝึกอบรม ภายใต้บริษัทจัดอบรม "อัจฉริยะสร้างได้"

      
เริ่มจากการปั้นเด็กๆ ในโรงเรียนวนิษาที่เธอนั่งบริหารอยู่ให้เป็นเด็กน้อยแสนอัจฉริยะ และมีความสุข

      
"ตอนเรียนปีสุดท้ายถามโปรเฟสเซอร์ว่าทำยังไงให้คนเราอยู่อย่างมีความสุข โปรเฟสเซอร์ก็บอกว่า การให้คนๆ หนึ่งมีความสุขได้ต้องเริ่มจากหน่วยเล็กที่สุด เมื่อหน่วยเล็กที่สุดมีความสุข หน่วยใหญ่ก็จะมีความสุข เลยเลือกเรียนจิตวิทยาครอบครัว

      
พอเรียนปริญญาโทก็คิดว่าจะเรียนอะไรที่ไม่ซ้ำกัน และเรียนอะไรที่ใช้กับทุกคนในโลกได้ ก็มาเจอวิชาพหุปัญญา คือ เรื่องอัจฉริยภาพไม่ได้มีด้านเดียว เป็นการเรียนเกี่ยวกับสมองว่าทำงานอย่างไร และจะพัฒนาศักยภาพให้ดีที่สุดได้ยังไง ซึ่งเป็นการเรียนกลไกการทำงานของสมองโดยไม่ต้องผ่าสมอง"

    
       องค์ความรู้ใหม่ด้านสมองที่เพิ่งค้นพบไม่เกิน 10 ปีที่ผ่านมา โดยโปรเฟสเซอร์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ วิจัยพบว่า สมองมีการเรียนรู้และพัฒนาผ่านกลไกทำงาน 10 หลักการ นั่นคือ      

       1.  สมองเรียนรู้ผ่านร่างกายที่พร้อม สมองมีความตื่นตัว (Relaxed Alertness)

       2. 
การจดจำที่ดีได้มาจากการ "ทำซ้ำ" จนเกิดเป็น "ทักษะ"

      
3.  สมองตื่นตัวเปิดรับต่อสิ่งแปลกใหม่ เพราะถ้าสิ่งไหนซ้ำซาก สมองจะเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องใส่ใจ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ ไม่ต้องใส่ใจ

      
4.  ความรู้สึกและอารมณ์มีผลสำคัญต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีจึงต้องเพาะ "เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข" หรือการ "คิดเชิงบวก" เพื่อให้เกิดการกล้าคิด กล้าทำ กล้าสร้างสรรค์

      
5.  สมองเรียนรู้จากการ "เชื่อมโยง" กับประสบการณ์เดิม

       6. 
สมองรับรู้ผ่าน "ประสาทสัมผัส"

      
7.  สมองจะถูกปิดกั้นเมื่อเกิดความเครียด ความกลัว ความเบื่อ ซึ่งสมองส่วนสัญชาตญาณ (Reptilian Brain) จะสั่งให้เอาตัวรอดด้วยการหลบหนีมากกว่าจะใช้ความคิดระดับซับซ้อน

        8. 
สมองมีความสามารถหลายด้าน จากการวิจัยของการ์ดเนอร์ ระบุว่า ความสามารถหรืออัจฉริยะมี "อย่างน้อย" 8 ด้าน ได้แก่ อัจฉริยะด้านภาษา คณิต/ตรรกะ ดนตรี/จังหวะ ด้านการมอง/มิติสัมพันธ์ ร่างกาย/การเคลื่อนไหว ความเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และด้านความเข้าใจธรรมชาติ

       9. 
สมองทำงานเป็นองค์รวม หมายความว่า การพัฒนาความสามารถควรให้ความสำคัญกับการได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย และจากประสบการณ์ตรง แทนที่จะมุ่งเน้นความจำเพียงอย่างเดียว

       10. 
สมองต้องมีเวลาจัดระบบข้อมูล

      
หลักการทำงานด้านสมองที่ได้รับการถ่ายทอดจาก ดร.การ์ดเนอร์ ต้นตำรับด้านวิทยาการด้านสมอง ครูหนูดี นำมาใช้กับเด็กๆ ในโรงเรียนวนิษา ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนที่นี่จะ "แหวก" กว่าที่อื่น ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพการคิด ความเป็นผู้นำอย่างไม่มีขีดจำกัด

       เธอยกตัวอย่างกิจกรรมสนุกให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นอย่างไร ถ้าจะให้ท่องจำกันปาวๆ เธอว่า เด็กๆ ไม่มีวันรู้ซึ้งว่าแบบไหนจึงจะพอเพียง ครูหนูดีจึงให้เด็กๆ ทั้งโรงเรียนร่วมกันสร้าง 2 หมู่บ้าน

      
หมู่บ้านแรก เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ และมีผลิตภัณฑ์ดินเผา อีกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเกษตรกรปลูกผักขาย

      
เด็กสนุกกับการสร้างบ้านเอง สร้างเตาเผาเพื่อผลิตเครื่องปั้นดินเผาเอง มีกิจกรรมเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ ปลูกผัก และนำผลิตภัณฑ์มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน

      
ทั้งหมดนี้เด็กๆ ช่วยกันคิดคอนเซปต์เอง หาวิธีแก้ปัญหาเอง พ่อแม่ ครู แค่ช่วย "ไกด์" อยู่ห่างๆ

      
"เราให้เด็กทั้งโรงเรียนคิดคอนเซปต์ขึ้นมาเองว่าอยากให้หมู่บ้านเป็นแบบไหน แล้วให้เขาเลือกเองว่าอยากอยู่หมู่บ้านไหน โดยมีคุณพ่อที่เป็นวิศวกรให้คำปรึกษาว่าต้องสร้างบ้านยังไง จะสร้างเตาเผายังไง พอได้ผลิตภัณฑ์จะแลกเปลี่ยนอย่างไร ก็มีการคิดว่าจะเอาของมาแลกเปลี่ยนกัน เด็กๆ สนุก และได้เรียนรู้ว่าแค่ไหนถึงพอเพียง


      
พอปลายปีครูกับนักเรียนจะช่วยกันออกข้อสอบว่า ควรจะวัดทักษะเขาในเรื่องไหน เช่น การประนีประนอม การเป็นผู้นำที่สามารถนำทั้งกลุ่มไปสู่ความสำเร็จได้ เราคิดว่าการออกข้อสอบแบบนี้เหมาะสมกับเด็กในแบบที่เด็กเป็น เพราะเด็กแต่ละคนสภาพแวดล้อม ความสามารถไม่เหมือนกัน"

      
หลายคนอาจจะมีคำถามว่า วิธีเรียนแบบนี้ "แหวก" เกินหรือไม่ แล้วเด็กๆ จะออกผจญกับโลกที่แสนจะโหดร้ายได้แน่หรือ

      
"คอนเฟิร์มว่าเรามาถูกทาง เด็กของที่นี่สามารถใช้ชีวิตร่วมกับสังคมภายนอกได้ดี"

      
ครูหนูดีเชื่อว่า ความสนุกผ่านกิจกรรม ทำให้เด็กตื่นตัว เรียนรู้ได้ดีกว่า เหมือนกับการเพาะ "เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข" ไม่ผิดจากบรรดาอัจฉริยะบุคคลที่ได้รับรางวัลโนเบลที่ยุคหนึ่งโรเบิร์ต ไอส์ไตน์ หรือโทมัส เอดิสัน ถูกมองว่า "สติเฟื่อง"

      
"แต่จริงๆ บุคคลเหล่านั้นเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีที่สุด และใช้ชีวิตที่สมดุลมากกว่าคนเก่งแต่เครียด"

      
และไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่จะสร้างผลงานอันแสนจะอัจฉริยะได้เท่านั้น แต่เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ผู้ใหญ่ฝึกฝนเพิ่มศักยภาพได้ดีขึ้น

      
เธอบอกว่า หากรู้จักกลไกการทำงานของสมอง รู้ว่าสมองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร แล้วทำอย่างที่สมองชอบ ก็เพิ่มศักยภาพได้ง่าย

      
เทคนิคง่ายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองแนะนำ คือ ต้อง "เปิดฉาก" ตอนเช้า และ "ปิดฉาก" ก่อนนอน

      
"สมองชอบมองทุกอย่างในภาพรวมก่อนที่จะลงรายละเอียด เพราะฉะนั้นก่อนเริ่มทำงานให้ใช้เวลา 5 นาที สำรวจ เรียบเรียงก่อนว่าเช้านี้ เราจะทำอะไร บ่ายจะทำอะไร จากนั้นค่อยมาลงรายละเอียดในช่วงวันทีหลัง

      
และก่อนนอนให้มอง "สรุป" อีกสัก 5 นาที ว่าวันนี้เราทำอะไรไปแล้ว เรียบร้อยมั้ย ถ้าไม่ ก็จดว่ามีอะไรที่ต้องทำ แค่นี้เราก็จะหลับสบาย คนที่หลับไม่ลงเพราะไม่มีการ "ปิดฉาก" ให้สมอง"

      
นอกจากนั้นการทำงาน หรือการอ่านหนังสือ ต้องทำอย่างผ่อนคลาย

      
"ช่วงความสนใจของคนจะมีแค่ 50 นาที แทนที่จะทนท่องแบบเบื่อๆ ไม่ลุก ไม่นอน ควรจะเปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ แบ่งเป็นช่วงละ 50 นาที แล้วก็นอนเยอะๆ จะได้ผลมากกว่า เพราะสมองคนเราจะบันทึกเฉพาะเวลานอน ถ้าอยากจำมากต้องนอนเยอะให้เต็มอิ่ม สมองจะบันทึกได้มากขึ้น"

      
และแทนที่จะท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทอง ให้จำเป็น "Mind Map" จดเป็นรูปภาพ ด้วยปากกาหลากสี เป็นอีกเทคนิคที่สมองบันทึกได้ดีกว่า

      
หากรู้จักกลไกการทำงานของสมอง "อัจฉริยภาพ" ก็สร้างได้ไม่ยาก

อัจฉริยภาพสร้างได้

       5 นาที สำรวจสิ่งที่ "ต้องทำ" ก่อนทำงาน

       5 นาที ทบทวนสิ่งที่ได้ทำก่อนนอน

       ๐ "จิบ" น้ำบ่อยๆ ช่วยให้คิดเร็ว

       ๐ แบ่งช่วงการทำงาน/อ่านหนังสือช่วงละ 50 นาที แล้วเปลี่ยนอิริยาบท

       ๐ คิด "เชิงบวก"

       ๐ จดจำเรื่องต่างๆด้วย "Mind Map"

       ๐ นอนพักให้อิ่มวันละ 8 ชั่วโมง




โดย เปรมศิริ ฤทัยเจตน์เจริญ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ Bizweek/ Bschool

 1927
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์