3 ห่วง 2 เงื่อนไข สร้างคนอย่างสมดุล

3 ห่วง 2 เงื่อนไข สร้างคนอย่างสมดุล

เศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาสร้างคนให้มีสุขในชีวิตการทำงาน

หลักคุณธรรม เริ่มได้จากผู้นำ สู่การเติบโตที่ยั่งยืนและมั่นคง

องค์กรสุขภาพดีจับคู่ความพอเพียง ไม่ใช่แค่คนเก่ง แต่จรรยาบรรณต้องสูงด้วย

เผยผู้บริหาร HR ต้องคำนึงถึง นี่คือเนื้อแท้ของการจัดการบริหารงานบุคคล


      การเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในเชิงธุรกิจ จุดเริ่มต้นที่สำคัญมาจาก “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แต่ที่ผ่านมา ด้วยกระแสของโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดการแข่งขันรุนแรง พนักงานมุ่งสร้างแต่ผลงาน
      
      พฤติกรรมของพนักงานหลายคนเริ่มเปลี่ยนไป เห็นแก่ตัวมากขึ้น คำนึงถึงคุณธรรมและจริยธรรมน้อยลง มองแต่เพียงผลงานที่เกิดขึ้นตรงหน้า โดยไม่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน
       
ความรู้คู่คุณธรรม ภูมิคุ้มกันขององค์กร
        
      ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.จิรประภา อัครบวร คณะบดี คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) จึงมีแนวคิดที่จะนำเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ในแง่ของการพัฒนามนุษย์และพัฒนาองค์การ ในรูปของงานวิจัย เพื่อให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่เป็นเพียงแนวคิดหรือทฤษฎีที่ยากต่อการปฏิบัติอีกต่อไป
      
     "คนพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันมาก แต่พอพูดแล้วก็เหมือนกับเป็นเพียงแนวคิด หลายคนอาจยังมองภาพไม่ชัดเจน ว่าเวลาปฏิบัตินั้นทำอย่างไรบ้าง" ผศ.ดร.จิระประภา กล่าว
      
     ทั้งนี้ ดร.วิชัย อุตสาหจิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งได้ทำการวิจัยพฤติกรรมคนทำงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่าตามหลักแล้ว ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่ง 3 ห่วง ประกอบไปด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผลและการมีภูมิคุ้มกันตนเอง ส่วน2 เงื่อนไข คือ ความรู้และคุณธรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องมาควบคู่กันเสมอ จะขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ อย่างเช่น องค์กรใดที่มีคุณธรรม องค์กรนั้นย่อมมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง
      
      ในแต่ละขั้นตอนของการทำงานคนๆหนึ่ง สามารถนำทฤษฎีนี้ไปใช้ได้เสมอ ตัวอย่างเช่น ในขณะประชุม ต้องมีการฟังเหตุผล การสื่อสาร การมีภูมิคุ้มกันก็คือ การอย่าด่วนตัดสินใจ ต้องสามารถคำนวณสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ ภาวะผู้นำแบบเศรษฐกิจพอเพียงก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น การใช้ความยุติธรรมในการตัดสินเรื่องต่างๆ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากรอบด้าน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย การตัดสินใจต้องมีหลักการยอมรับชัดเจน
      
       ซึ่งหลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถใช้ได้กับพนักงานในทุกๆองค์กรทั้งไทยและเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งเดิมทีเรามักเชื่อทฤษฎีทางฝั่งตะวันตก ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทฤษฎีทางวิชาการได้อย่างหลากหลาย
      
      อีกทั้งมิติของเศรษฐกิจพอเพียงยังสามารถเข้าได้กับทุกระดับ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ว่ามีแนวทางการดำเนินชีวิตและการทำงานอย่างไร ระดับกลุ่มคน คือมีความเชื่อ ค่านิยม ในการทำงานเป็นอย่างไร หรือในระดับองค์กรว่าเป็นองค์กรที่มีสุขภาพดีหรือไม่
        
จริยธรรม คุณธรรม เงื่อนไขจ่ายค่าตอบแทน
       
      ด้าน ผศ.ดร.กัลยาณี คูณมี ผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การภาคพิเศษ กล่าวถึงการวิจัยในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนและเรื่องจริยธรรมว่า ในเรื่องการบริหารค่าตอบแทน ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของความยุติธรรมทั้งภายในและภายนอกองค์การ ร่วมกับประสิทธิภาพของการบริหารค่าตอบแทน จากการทำวิจัยพบว่าหากอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและประสิทธิภาพ จะส่งผลให้พนักงานมีความพึงพอใจที่สูงขึ้นในเรื่องของค่าตอบแทน
      
      จริยธรรมคือสิ่งที่องค์กรต้องสร้างเป็นพื้นฐานให้เกิดขึ้นในการทำงาน ต้องตระหนักว่าหากไม่มีจริยธรรมแล้ว ธุรกิจมักจะมีผลประกอบการที่หวือหวาในบางช่วง แต่ในท้ายที่สุดแล้วก็เลิกกิจการไป ทำให้คนในองค์กรไม่มีความสุขในการทำงาน ขาดความผูกพันกับองค์กร ไม่มีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลกระทบที่รุนแรงกว่า
      
      ผศ.ดร.กัลยาณี ยังกล่าวว่า จริยธรรมภายในองค์กร แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่เห็นชัดเจน เช่น การมีจรรยาบรรณ การมีคณะกรรมการ มีการเขียนออกมาว่ามีนโยบายการทำงานอะไรบ้าง และรูปแบบที่ไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะสะท้อนถึงภาวะความเป็นผู้นำ สะท้อนถึงการบริหารจัดการ วัฒนธรรมภายในองค์การ ว่าองค์การนั้นยึดหลักจริยธรรมมากน้อยแค่ไหน
      
      นอกจากนี้ผลการวิจัยในเรื่องจริยธรรมกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน นั้นผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่ง พิจารณาจาก 3 เรื่อง คือ ความสุขในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์กร และจิตวิญญาณต่อส่วนรวม โดยได้ข้อสรุปว่าทั้ง 3 ปัจจัยมีความสัมพันธ์กัน และเป็นไปในลักษณะรูปแบบที่ไม่ชัดเจน กล่าวคือ เป็นเน้นการปฏิบัติจริงไม่ใช่เพียงเขียนไว้ที่ฝาผนัง
      
     แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่ชัดเจนก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อกำหนดเอาไว้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ เป็นการสื่อสารให้กับพนักงานได้เห็นชัดเจน แต่แค่นั้นยังไม่พอ ยังต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อให้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร ไม่ใช่ดีแต่พูดเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งมีการเปรียบเทียบถึงการตระหนักเรื่องจริยธรรม ระหว่าง HR manager กับ Marketing Manager พบว่า ผู้บริหารด้านบุคคลจะตระหนักเรื่องของจริยธรรมและผลกระทบที่นำไปสู่คุณภาพ ชีวิตดีกว่า มากกว่าทางด้านผู้บริหารทางด้านการตลาด
      
      ผศ.ดร.จิรประภา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสองปีที่แล้วได้จัดการสัมมนาเรื่อง องค์การสุขภาพดี จริงๆแล้วองค์กรที่Hight perfome ส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรที่ Unhealthy ไม่ยั่งยืน ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งองค์การสุขภาพดีต้องแสดงให้เห็นถึงการสร้างสมดุลของระหว่าง สุขภาพองค์การ สุขภาพของคน และสุขภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถไปด้วยกันได้ดีกับองค์การสุขภาพดี
       
คน-องค์กรสร้างสมดุล ส่งเสริมซึ่งกันและกัน 
        
       ภายใต้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เช่นเงื่อนไขความรู้ หรือการสรรหาคน ต้องการสรรหาคนที่มีความรู้สูง มีความสามารถ ผลิตผลงานได้เป็นอย่างดี แต่ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาคุณธรรมคู่ความรู้ บุคลากรที่เราสรรหาและ พัฒนาต้องใช่แค่ High performer,High potential แต่ต้องส่งเสริมให้เขาเป็น High ethics and value ด้วย ซึ่งเป็นโมเดลของฝั่งตะวันตก ที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงเพราะไม่ใช่แค่เน้นด้านศักยภาพเท่านั้น แต่ยังสนใจด้านจรรยาบรรณด้วย มิเช่นนั้นแล้วองค์กรไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ อ่านเรื่องนี้ต่อได้ที่:นักบริหารทรัพยากรบุคคลกับการสร้างสรรค์ความสุข
      
         ส่วน 3 ห่วงในการดำเนินธุรกิจนี้ ซึ่งก็ได้พูดถึง ในการบริหารจัดการ ในระดับ องค์กร ระดับกลุ่ม และตัวบุคคล ต้องมีความสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป้าหมายองค์กร,เป้าหมายกลุ่ม,เป้าหมายตัวบุคคล จะต้องมีความสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน
      
         อาจารย์ ดร.บุษกร วัชรศรีโรจน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรเทคโนโลยีการบริหาร กล่าวว่า คุณธรรมดำเนินไปในหลักที่สมดุลจะนำไปสู่ความยั่งยืน จะกลับมาเป็นผลลัพธ์ทางการเงินส่งผลให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้ เช่นองค์กรที่เป็น Good Governance ถ้ามองที่ต้นทุนการใช้เงินแล้วถูกมาก
      
         ขณะที่ปัจจุบันมีแนวคิดต่างๆ ออกมามาก ทำให้องค์กรต้องทำอะไรใหม่ทุกปีที่เป็นความท้าทาย แต่ทำอย่างไรถึงจะเชื่อมโยงจากเรื่องเดียวครอบคลุมในทุกๆ แนวคิด ทุกๆ มิติ ก็นำมาสู่โมเดลแนวเศรษฐกิจพอเพียง
      
      อาจารย์ ดร.บุษกร ได้หยิบยกคำพูดของ ฟิลิป คอตเลอร์ กูรูการตลาดระดับโลก ที่ว่า “องค์กรในประเทศไหน ไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ถ้าไม่มีความเที่ยงตรง หรือไม่มีคุณธรรมแล้วทฤษฎีอะไรก็ไม่สามารถใช้ได้” ฉะนั้นต่อให้มีภูมิคุ้มกัน แผนบริหารความอย่างไรก็ตามก็อาจไม่ได้ผลเช่นกัน
      
      ด้าน รศ.ดร.โกวิท กังสนันท์ ผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อธิบายถึงประเด็นที่มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ประเด็น คือ

     1. เศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวขับเคลื่อนหรือเป็นสิ่งที่ต้องปรับตัว ถ้าเป็นตัวขับเคลื่อนก็จะส่งผลกระทบกับวิธีคิดในรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง การบริหาร หรือวัฒนธรรม แต่หากเป็นการปรับตัว เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาของสังคม เพราะฉะนั้นสังคมทุกด้านต้องปรับตัวเข้าสู่ปรัชญานี้
 

     2. ระดับของเศรษฐกิจพอเพียงจะเน้นระดับไหน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นว่า เหมาะสมกับทุกระดับ ทุกสังคม ซึ่งทางสถาบันก็พยายามผลักดันปรัชญานี้ให้อยู่ในระดับ มหภาคมากขึ้น
 

     3. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการอินทิเกตนำสาขาวิชาอื่นเข้ามามากน้อยแค่ไหน ซึ่งทางนิด้าพยายามให้คำนิยามของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน เป็นรูปธรรมและมีตัวชี้วัดรองรับ

     ทั้งนี้จุดเริ่มของการนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจเข้ามาใช้ ต้องมาจากการตัดสินใจของผู้บริหารสูงสุด แต่ในเชิงธุรกิจแล้ว การจะนำหลักการอะไรเข้ามาใช้ ผู้บริหารมักจะคิดเสมอว่า จะเกิดคุณค่าอะไรกับองค์กรหรือคนในองค์กร แต่หากเป็นการสร้างคุณธรรมให้กับองค์กร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปในหลักที่สมดุล นำไปสู่การเติบโตทางการเงินที่ยั่งยืน ก็นับว่าคุ้มไม่น้อยที่จะนำปรัชญานี้เข้ามาใช้ภายในองค์กร
       
      ด้วยเหตุนี้ทำให้นิด้า จึงนำวิจัยเกี่ยวกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาใช้บริหารงานทรัพยากร บุคคล ในมุมมองด้านต่างๆ จากคณาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ทางสถาบันจะนำเสนอผลการวิจัยผ่านทางการประชุมวิชาการ The Annual Symposium of HROD Intelligence 2007 “พัฒนาคนและพัฒนาองค์การ บนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : สู่ความสมดุลและยั่งยืน” ในวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2550 เวลา 8.30-16.30น. ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี)


ที่มา : www.manager.co.th

 7293
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

People Management

ไม่พบรายการที่คุณค้นหา
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์