จงเลือกคนที่ซื่อสัตย์ที่สามารถปกครองคนอื่นได้ด้วย
หลังจากที่วรรณฤดีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน “KM Applications: World Bank & Thailand Experience Sharing” ความกังวลของเธอเรื่องคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำงานก็หมดไป
“หิ่งห้อยหากรวมตัวกันเข้าไว้ ก็สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้แล้วนะ” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่นด้วยแรงบันดาลใจที่ได้รับจากคุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล นักวิชาการวิเคราะห์นโยบายและแผน 7 DOH (Department of Health) “เพราะคน 20% ที่อาสาร่วมใจกันเพียงพอจะเคลื่อนคนอีก 80% ที่เหลือได้ในที่สุด”
“อีกอย่าง...คนส่วนใหญ่คิดว่างานจะลุล่วงถ้าได้คนที่มีขีดความสามารถตรงกับ งานที่ทำ” ยุทธศักดิ์พูดเสริม ขณะที่ได้ทราบข่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่าง ประเทศ “แต่หากคิดให้รอบคอบรอบทิศ ผมคิดว่าควรพิจารณาเรื่องการเข้ากันได้กับทีมเดิมและแรงจูงใจกับผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นด้วย” ยุทธศักดิ์ทิ้งท้ายให้คิด
ความรอบคอบเป็นเงื่อนไขที่ขาด ไม่ได้ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เราเลือกคนเข้าเป็นทีมงานอย่างระมัดระวัง โดยไม่เพียงพิจารณาเพียงเป็น “คนเก่ง” เท่านั้น แต่เป็น “คนดี” ด้วย เพื่อจะทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีความสุขและอยู่ได้นาน ไม่ต้องเปลี่ยนตัวบ่อยๆ อีกทั้งเมื่อคนดีได้ปกครองคนเก่งก็จะส่งผลดีต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง จึงเรียกได้ว่า 3-Win กล่าวคือ ทั้ง 3 ฝ่ายได้รับประโยชน์และเกื้อกูลกัน ได้แก่ บุคคล องค์กรและสังคม
ท่านจะพิจารณาอะไร อย่างไรเพื่อเลือกคนร่วมทีม สำรวจตนเองผ่านดัชนีการบริหารถัดไปนี้
ดัชนีการบริหาร
ในช่วงที่ผ่านมา ท่านเลือกคนเข้าร่วมทีมเป็นอย่างไรบ้าง กรุณาให้คะแนนหน้าข้อ (1 = ไม่จริง 2 = จริงบางครั้ง 3 = ค่อนข้างจริง 4 = จริงมาก) ที่ตรงกับตัวท่านมากที่สุด
1. ฉันพิจารณาจากประวัติการทำงานและการศึกษาเป็นสำคัญ
2. ฉันดูจากหนังสือแนะนำตัวและสังเกตรูปร่างหน้าตาเป็นสำคัญ
3. ฉันเลือกคนใกล้ชิด ญาติมิตรก่อนเพราะไว้ใจได้และรู้ใจกันดี
ข้อเสนอแนะ : ข้อใดที่ได้คะแนนมากกว่า 1 หากต้องการพัฒนา อาจใช้ทักษะ "เลือกอัศวิน" ช่วยได้ ทักษะ “เลือกอัศวิน”
ทักษะนี้เป็นกระบวนการคัดเลือกคนดีมาเป็นทีมงาน เพื่อสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสุขและอยู่ได้นาน และเมื่อสนับสนุนให้คนดีปกครองคนเก่งก็จะก่อประโยชน์อย่างต่อเนื่องแก่ส่วน รวมทั้งต่อองค์กรและต่อสังคม โดยพิจารณาคุณสมบัติ 7 ประการที่ให้ชื่อว่า Hi CEO ได้แก่
• H : Humility=ถ่อมใจเรียนรู้
• I : Integrity=ซื่อสัตย์
• C : Courage=กล้าหาญมุ่งมั่น
• C : Commitment=ผูกพันอุทิศตัว
• E : Enthusiastic=กระตือรือร้น
• O : Openness=เปิดเผยจริงใจ
• O : Optimist=มองบวกต่อผู้อื่นและโลก
ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังภาพและคำอธิบายถัดไปนี้
โมเดล การเลือกคนแบบ 3-Win
1. ตั้งเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 หมวด ก) หมวดคุณสมบัติหลักได้แก่ ความซื่อสัตย์ (Integrity) ซึ่งทำให้บุคคลรับผิดชอบต่อองค์กรและสังคม ข) หมวดคุณสมบัติต่อตนเอง ได้แก่ ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญมุ่งมั่น และความเปิดเผยจริงใจ ซึ่งทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ค) หมวดคุณสมบัติต่อผู้อื่น&องค์กร&สังคม ได้แก่ ความผูกพันอุทิศตัว มองบวกต่อผู้อื่น และถ่อมใจเรียนรู้ ซึ่งทำให้คนไม่เปลี่ยนงานบ่อยเพราะเข้าได้กับคนอื่นๆ และมีความสุขในการทำงาน
2.สังเกตพฤติกรรม โดยพิจารณาจากการกระทำ การแสดงออก คำพูด การแสดงความคิดเห็น การตอบสนองต่อสถานการณ์ที่มากระทบ ซึ่งจะวัดได้ในขณะปัจจุบันและดูว่าสอดคล้องกับประวัติการศึกษาและการทำงาน มากน้อยเพียงใด ทำให้เพิ่มความเชื่อมั่นยิ่งขึ้น
3.ประเมินอย่างรอบทิศ โดย อาจให้เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ลูกค้า ลูกน้องและตัวเองช่วยกันมอง ไม่เพียงประเมินจากคนใกล้ชิดสนิทสนมหรือจากหนังสือแนะนำตัวเท่านั้น
ครั้งต่อไป หากท่านจะเลือกทีมงาน ท่านจะสังเกตคุณสมบัติอะไรเพิ่มเติมบ้าง?
ที่มา : http://www.bangkokbizweek.com