ทำ KM ให้สนุก กับ 3 มุมคิด HR มืออาชีพ

ทำ KM ให้สนุก กับ 3 มุมคิด HR มืออาชีพ

     สัมมนาโครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์ (Knowledge Hub on Human Capital Management) ครั้งที่ 2 ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จับมือกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นมุมมองการจัดการองค์กรที่ทำให้หลายคนเข้าใจความหมายของการทำ KM (knowledge management) ลึกซึ้งมากขึ้น

 

     ที่น่าสนใจ คือ ทุกคนได้เรียนรู้ว่า KM ไม่ใช่เรื่องที่องค์กรบีบบังคับให้ทุกคนทำอีกต่อไป แต่ KM เป็นเรื่องที่สนุกสนานที่ทุกคนควรเรียนรู้

 

     โต๊ะเสวนาวันนี้ มีทั้ง ดร.นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ปรอง กองทรัพย์โต ผู้จัดการอาวุโส บริษัท สแปนชัน (Thailand) จำกัด และ นางสาวภารณี วัฒนา ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจชุมชนและกระจายรายได้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เป็นทั้งผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการใน องค์กรและผ่านกรณีศึกษา KM ต่างๆ มาอย่างโชกโชน

 

"ดร.นิพนธ์" โฟกัสไปที่คำว่า เศรษฐกิจที่ใช้ฐานปัญญา

 

     "โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวก็ดี เรื่องหน้าที่การทำงานก็ดี เรื่องระดับสังคมก็ดี ถ้าเข้าใจโมเดลของการเรียนรู้ทุกอย่างแก้ปัญหาได้หมด โดยเริ่มต้นจากข้อมูล วิเคราะห์ให้เป็น จึงจะได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้อง"

 

     ย่อยข้อมูลก็เพื่อให้เกิดเป็นความรู้ เมื่อเกิดความรู้แล้วก็ต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับคุณธรรมความดี แล้วมั่นฝึกฝน คิดบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ พัฒนาเป็นปัญญา และนี่คือกระบวนการที่แตกต่างระหว่างความรู้กับปัญญา

 

ดร.นิพนธ์มองว่า ธุรกิจหากไม่มีอินโนเวชั่นหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่มีทางไปรอด

 

     ถ้าจะคุยกันเรื่อง KM ต้องเข้าใจองค์กรแห่งการเรียนรู้ก่อน เพราะถ้าไม่ทำก็เชื่อว่าจะไม่มีอะไรที่จะไปจัดการกับความรู้และสุดท้ายองค์กรที่พัฒนาตนเองเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้เท่านั้นที่จะไม่มีวันตาย

 

Peter Senge สรุปหลักการไว้ว่า

 

ข้อแรกต้องพัฒนาให้เป็นเซียน เป็นคนเก่ง ทุกคนในองค์กรต้องพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ข้อที่สองต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่มีอคติกับคน ร่วมกันแก้ไขปัญหาขององค์กร

 

ข้อที่สาม แบ่งปันวิสัยทัศน์ แบ่งปันความรู้ แบ่งงานกันทำเป็นทีมแล้วเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

ข้อสุดท้าย จัดวิธีคิดให้เป็นระบบ ต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัดสินไปในวันนี้อาจจะขยายผลไปในวันข้างหน้า

 

     ฉะนั้นต้องเข้าใจระบบการทำงานแล้วพัฒนาตัวเอง พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คู่แข่งทำอะไรแล้วเราไม่ทำ ก็เท่ากับว่าเราถอยหลัง

 

     ดังนั้นหัวใจของการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งหมดจึงอยู่ที่คนใน องค์กร เรื่องของ KM กับการจัดการองค์กรแห่งการเรียนรู้ต้องไปด้วยกัน

 

     ด้าน "ดร.ปรอง" แม้ว่าจะจบมาด้านวิศวกร แต่เมื่อได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับการจัดการความรู้ ก็ศึกษาหมดทุกโมเดลที่มีอยู่บนกระดาน

 

"กระบวนการจัดการความรู้ทุกโมเดลดีหมด แต่หลายหน่วยงานที่เข้าไปสัมผัสรู้ทฤษฎีหมด แต่กระบวนท่ายังไม่ชัด หลายองค์กรยังรำมวยจีนอยู่"

 

องค์กรที่กระโดดเข้าทำ KM ในช่วงที่ผ่านมา มักจะเจอคำหลากหลายรูปแบบมาก

 

แบบแรก คือ คนที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ ทำเพื่อให้ได้ KM ในองค์กร

 

แบบที่สอง คือ นายสั่งมา รอสักพักเดี๋ยวนายลืมก็เลิก

 

แบบที่สาม คือ KM คืองานเพิ่มชัดๆ

 

แบบที่สี่ คือ ทำมาตั้งนานแล้ว ตกลง KM คืออะไร

 

แบบที่ห้า คือ หน่วยงานของเรายังไม่เก่ง ดูเขาไปก่อน

 

แบบที่หก คือ มีสูตรกาแฟแบบทรีอินวันไหม

 

     เมื่อหันมาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น องค์กรที่ทำ KM เพื่อให้ได้ KM นั้นไม่มีในโลกนี้ เพราะ KM ไม่ใช่เป้าหมาย แต่ KM เป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คนที่บอกว่า นายสั่งมาเดี๋ยวก็เลิก แสดงว่ายังไม่เข้าใจว่า KM คืออะไร แล้ว KM ก็ไม่ใช่งานเพิ่มของคนในองค์กร แต่เป็นอีกโครงการหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้

    

     สำหรับคนที่ตั้งคำถามว่า ทำมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่า KM นั้นคืออะไร คนนั้นนั่นแหละมาถูกทางแล้ว เพราะ KM ไม่ใช่การท่องตำราแล้วจะบรรลุ แต่ต้องลงมือทำ

 

     ส่วนคนที่บอกว่า ขอดูไปก่อนก็คงต้องดูไปตลอดชีวิต เพราะการจัดการความรู้ไม่เหมือนศาสตร์อื่นๆ พอเห็นภาพลางๆ ต้องกระโดดเข้าไปทำเลย แล้วจะได้เรียนรู้เอง

 

     และสุดท้าย KM ไม่มีสูตรสำเร็จแบบกาแฟ กลิ่นอายของต่างประเทศ ไม่เหมือนคนไทย เวลาทำต้องดูองค์กรของตัวเองเป็นหลัก จะนำหลักการต่างๆ มาปรับใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร คนในองค์กร แล้วสุดท้ายนำ ไอทีมาเก็บความรู้ของคนในองค์กรและเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาร่วมแชร์ความรู้ นั้น ซึ่งไอทีอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อาจจะต้องใช้เรื่องของการจัดการเชิงสังคม สร้างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในองค์กร

 

     ความท้าทายของการจัดการความรู้ในวันนี้ จึงอยู่ที่การบริหารบรรยากาศในองค์กร การเลือกวิธีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่ใช่การเขียนบนกระดาษเท่านั้น

 

     "นางภารณี" ได้ร่วมแชร์ความเห็นว่า บทเรียนในประเทศที่มีความก้าวหน้า ความรู้เป็นตัวที่ทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในอนาคตความรู้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉะนั้นจะปรับความคิดของคนไทยอย่างไรให้เห็นว่า เรื่องของความรู้เป็นเรื่องสำคัญ แล้วใส่ไปในตัวทุกคนได้

 

     มีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่การนั่งท่องตำรา แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้องอาศัยทุนทางสังคม ซึ่งสังคมไทยมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร

 

     ซึ่งหลักการถ่ายทอดความรู้ คือ ส่วนหนึ่งของการทำ KM นั่นคือจะต้องเริ่มจากคนที่มีความรู้แตกต่างกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน บางเวทีมีการเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาพูด แล้วคุณอำนวยทำหน้าที่ในการป้อนคำถามกระตุ้นผู้ฟังให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้ร่วมกัน มีการมองความรู้ในหลายมิติแล้วถ่ายทอดไปสู่คนกลุ่มต่างๆ

 

     ในอนาคตระบบการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ การเรียนรู้จะไม่จำกัดแค่ในระบบการศึกษา เพราะที่พิพิธภัณฑ์ ศูนย์สันทนาการ การนันทนาการ ก็เป็นการเรียนรู้เหมือนกันองค์กรแห่งการเรียนรู้นับว่าท้าทายการเรียนรู้ของทุนมนุษย์อย่างยิ่ง

 
  
ที่มา : www.thaihrhub.com

 

 4981
ผู้เข้าชม
ทำเว็บธุรกิจ ทําเว็บขายของ ออกแบบเว็บไซต์ เว็บไซต์สำเร็จรูป SoGoodWeb

Human Resource

ปัญหาในที่ทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ปัญหาในที่ทำงานในที่ไหนๆก็จะมีคล้ายๆกัน
1536 ผู้เข้าชม
ปลดคนอย่างไรให้จบด้วยดี
33625 ผู้เข้าชม
“นักบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ HR เป็นผู้มีบทบาทในการสร้างสีสันให้แก่องค์การ มีหน้าที่สรรหาสิ่งที่เป็นค
7614 ผู้เข้าชม
Get started for free today. DEMO FREE 60 DAYS
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์