เมื่อองค์กรมี “คน” เป็นตัวหลักในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการทำงานของคนได้เสมอ คุณธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ ได้ให้คำแนะนำไว้ในหนังสือ“การบริหารความเสี่ยงด้าน HR”ถึงความจำเป็นและขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยง ที่นับว่าเป็นประโยชน์สำหรับ HRมากทีเดียว
คุณธำรงศักดิ์ อธิบายเหตุผลที่จำเป็นต้องมีระบบการป้องกันความเสี่ยง ดังนี้
• เพื่อให้การปฏิบัติงานของบุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความราบรื่นและปกติ
• เพื่อลดความผันผวนในด้านบุคลากรที่เกิดจากความเสี่ยงลง
• เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลลง
• เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กร (Stake holder) ว่าองค์กรมีระบบการป้องกันความเสี่ยงที่ดีในด้านทรัพยากรบุคคล
• เพื่อได้รับการยอมรับจากองค์กรภายนอกว่าองค์กรมีการบริหารความเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคลที่ดี
ส่วนขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงด้าน HR มีทั้งหมด 6 ขั้นตอน
1. ผู้บริหารกำหนดนโยบายในเรื่องความเสี่ยง
ผู้บริหารควรกำหนดนโยบายในเรื่องความเสี่ยงด้าน HR ให้ชัดเจน และประกาศแจ้งให้พนักงานทั้งองค์กรรับทราบว่าผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้มีการดำเนินการในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการบริหารความเสี่ยงที่จะมีขึ้นในองค์กรต่อไป
2. การค้นหาความเสี่ยง
ควรจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสำรวจ ค้นหา และระบุความเสี่ยงด้าน HR โดยทั่วไปได้แก่ ความเสี่ยงในงานสรรหา คัดเลือก ว่าจ้างผู้สมัครงาน ความเสี่ยงในการบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ ความเสี่ยงในการพัฒนาบุคลากร ความเสี่ยงในด้านแรงงานสัมพันธ์ และความเสี่ยงในระบบข้อมูลทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
3. การวิเคราะห์ความเสี่ยง
เป็นการวิเคราะห์ในลักษณะของการเปรียบเทียบกันระหว่างสิ่งที่คาดหวัง กับข้อมูลความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อดูว่าจะมีโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหา หรือผลกระทบที่เกิดตามมาจากความเสี่ยงในเรื่องนั้น ๆ มากหรือน้อยขนาดไหน
4. การประเมินและจัดอันดับความเสี่ยง
เป็นการประเมินเพื่อจัดอันดับความรุนแรงในแต่ละเรื่องว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงสูงมาก
5. การบริหารและจัดการความเสี่ยง มีอยู่ 4 แนวทางในการบริหารความเสี่ยง ดังนี้
5.1. การรับความเสี่ยงนั้นไว้เอง องค์กรจะเลือกใช้กรณีนี้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่าการเสียค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้นไม่คุ้มค่า ก็ควรรับความเสี่ยงไว้เอง
5.2. หลีกเลี่ยงความเสี่ยงนั้นเช่น เมื่อมีการระบุว่าความเสี่ยงนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดให้พนักงานหญิงมีครรภ์ทำงานในกะกลางคืนตั้งแต่ 22.00-06.00 น. ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาด้านกฎหมายแรงงานในอนาคต บริษัทก็ต้องหลีกเลี่ยงการจัดรอบการทำงานเช่นนั้น และทำให้ถูกต้อง
5.3. การโอนความเสี่ยงไปให้ผู้อื่น เปรียบได้กับการประกันภัยรถยนต์ ที่เราโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยรับผิดชอบแทนเรานั่นเอง
5.4. การป้องกันความเสี่ยงให้มากขึ้น เช่น บริษัททราบว่ามักมีการขโมยของในมุมมืดของบริษัท อาจป้องกันโดยติดตั้งไฟให้แสงสว่างและกล้องวงจรปิดเอาไว้ในบริเวณดังกล่าง เพื่อป้องกันการลักขโมย เป็นต้น
6. การตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยง
องค์กรควรมีการตรวจสอบในเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบต่าง ๆ ที่วางไว้นั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และเพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอ เพราะหากไม่มีระบบการตรวจสอบและควบคุมความเสี่ยง ก็อาจเกิดความเสียหายจากความเสี่ยงนั้น ๆ ได้อยู่ดี
หากองค์กรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคล เชื่อว่าจะสามารถป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นให้ลดน้อยลงได้ ซึ่งจะมีผลให้องค์กรสามารถบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างราบรื่นขึ้นตามมา