ความเสี่ยงคืออะไร ความเสียงหมายถึงระดับของผลกระทบต่อองค์กร ที่พิจารณาจากปัจจัยที่องค์กรให้ความสนใจ ซึ่งผลกระทบจากปัจจัยนั้นๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ในโอกาสที่หลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งนี้ตัวอย่างของปัจจัยที่องค์กรให้ความสนใจ เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งจะมีระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อองค์กรได้ตั้งแต่มีพนักงานบาดเจ็บ เพียงเล็กน้อย ไปจนถึงเกิดการบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมาก จนต้องปิดกิจการไป โดยเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากโอกาสที่แตกต่างกันไป สำหรับปัจจัยด้านอื่นที่องค์กรให้ความสนใจอีก เช่น ปัจจัยด้านการเงิน ปัจจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือปัจจัยด้านเครื่องจักรในการผลิต เป็นต้น
นอกจากนี้ หากมองออกไปนอกองค์กรก็จะมีปัจจัยเรื่องการเมือง ปัจจัยจากระบบเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งโดยภาพรวมปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อองค์กรในช่วงเวลาและโอกาสที่แตก ต่างกันไป และมีระดับของผลกระทบต่อองค์กรที่แตกต่างกันไปเช่นกัน
หากจะสรุปความหมายของความเสี่ยงออกมาเป็นสูตรที่เราคุ้นเคยกันในเรื่องการบริหารความเสี่ยงนั่นก็คือ ความเสี่ยงเป็นผลคูณจากระดับความรุนแรงและโอกาสที่จะเกิดเหตุ (ความเสี่ยง = ระดับความรุนแรง x โอกาสที่จะเกิดเหตุ) และจะแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นระดับความเสี่ยงต่างๆ ตามระดับคะแนนที่คำนวณได้
ทั้งนี้อาจจะกำหนดนิยามของช่วงคะแนนเพื่อแบ่งเป็นระดับความเสี่ยงต่างๆ ออกไป เพื่อความสะดวกในการกำหนดมาตรการควบคุมความเสี่ยง เช่น ระดับความเสี่ยงเล็กน้อยก็ไม่ต้องให้ความสนใจ ระดับความเสี่ยงปานกลางก็ต้องเข้าไปควบคุมเพื่อรักษาระดับนั้นไว้ไม่ให้สูง เกินไปกว่านี้ หรือระดับความเสี่ยงสูงก็ต้องเข้าไปดำเนินการใดๆ เพื่อลดระดับความเสี่ยงลงมา เป็นต้น
จากปัจจัยที่องค์กรให้ความสนใจดังกล่าวข้างต้น องค์กรจึงเข้าไปบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากปัจจัยเหล่านั้น เช่น การบริหารความเสี่ยงด้านการเงิน, การบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น โดยปัจจัยเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กรซึ่งจะต้องเข้าไป ใส่ใจ ติดตาม ตรวจสอบประเมินความเสี่ยงและหาทางป้องกันผลกระทบ รวมถึงการกำหนดแนวทางการลดระดับผลกระทบในกรณีที่อาจเกิดเหตุการณ์ผิดพลาด ร้ายแรงไว้ล่วงหน้า เพื่อการรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพและการดำรงอยู่ขององค์กร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ปัจจุบันองค์กรพบแล้วว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสำเร็จ ขององค์กร นั้นคือปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งปัจจัยนี้ก็สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความสำเร็จขององค์กรได้เช่น เดียวกับปัจจัยด้านอื่นๆ ดังนั้นผู้บริหารก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงในด้านนี้ โดยอาจมี แนวทางในการระบุปัจจัยเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคลจากมุมมองต่างๆ ดังนี้
1) ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายและกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลที่จะส่งผลต่อการกำหนด กลยุทธ์และนำกลยุทธ์ออกปฏิบัติ
2) ปัจจัยเสี่ยงจากความรู้ ความสามารถ ทักษะ ทัศนคติของบุคลากรในองค์กรที่จะมีผลต่อการบรรลุเป้าหมายทางกลยุทธ์ขององค์กร
3) ปัจจัยเสี่ยงจากวัฒนธรรมองค์กรที่จะสนับสนุนต่อพฤติกรรมของบุคคลในองค์กรที่ จะแสดงออกมาในการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทางกลยุทธ์ขององค์กร
4) ปัจจัยเสี่ยงจากกระบวนการด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล ที่จะมีประสิทธิภาพเพียงพอในการสนับสนุนกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลและกลยุทธ์ โดยรวมขององค์กร
5) ปัจจัยเสี่ยงจากประสิทธิภาพในการบริหารงาน ข้อมูลพื้นฐานด้านทรัพยากรบุคคลที่จะมีผลต่อความถูกต้องในการให้บริการพื้น ฐานด้านทรัพยากรบุคคล เช่น การจ่ายค่าจ้าง การคำนวณภาษี การเลื่อนปรับระดับตำแหน่ง การประเมินผลงาน ซึ่งประสิทธิภาพเหล่านี้จะส่งผลต่อบรรยากาศและสร้างความไว้วางใจของพนักงาน ต่อองค์กร
6) ปัจจัยเสี่ยงจากความไว้วางใจของผู้บริหารและ พนักงานต่อบทบาทและความสามารถของนักบริหารทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร ที่จะสามารถนำเสนอประเด็นด้านทุนมนุษย์เข้าสู่การกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร การแสดงออกถึงความสามารถในการเป็นผู้นำในการบริหารการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเป็นเจ้าภาพในการเสนอข้อมูลความเสี่ยงด้านทรัพยากรมนุษย์ต่อผู้ บริหารระดับสูงขององค์กร
หลังจากการระบุปัจจัยเสี่ยงจากมิติด้านต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็จะนำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ไปสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงตามหลักเกณฑ์ที่องค์กรอาจจะกำหนด ขึ้นมาเองภายใน เพื่อสามารถชี้ให้เห็นว่าเรื่องอะไรเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย รวมถึงการนำเสนอกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านทรัพยากร บุคคลต่างๆ ที่ตรวจพบจากการประเมิน รวมถึงการทบทวนกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลที่องค์กรอาจจะมีอยู่แล้วในปัจจุบัน
ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้านทรัพยากรบุคคลจึงเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ สามารถแสดงผลออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมในทุกมิติของการจัดการทรัพยากรบุคคลต่อผล สำเร็จขององค์กร และจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้นักบริหารทรัพยากรบุคคลสามารถแสดง บทบาทในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจร่วมกับผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างมืออาชีพ
ที่มา : ปิยวัฒน์ แก้วกัณฑรัตน์ บจก.ไทย เอชอาร์เอ็ม บิสิเนส
http://www.matichon.co.th